วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.6

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.6
เรื่อง ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
เราจะพบเห็นพืชในแทบทุกพื้นที่ของโลก ไม่เว้นแม้แต่ตามทะเลทรายซึ่งมีความแห้งแล้งมากก็ยังมีพืชเจริญเติบโตอยู่หรือแม้ตามมหาสมุทรต่างๆ ก็ตาม
พืชที่เจริญเติบโตบนพื้นดิน เราเรียกพืชกลุ่มนี้ว่า พืชบก ซึ่งเราจะพบเห็นได้ทั่วไป ส่วนพืชอีกกลุ่มหนึ่งที่เจริญเติบโตในน้ำ เราเรียกว่า พืชน้ำ โดยพืชน้ำยังแบ่งออกเป็น พืชใต้น้ำ พืชที่อยู่บนผิวน้ำ พืชที่ลอยอยู่ใต้ผิวน้ำ แต่ทั้งหมดต้องยังคงมีส่วนหนึ่งส่วนใดอยู่ในน้ำ เราจึงจะเรียกว่าพืชน้ำ
พืชนั้นมีความหลากหลายของพันธุ์แปลกๆ อย่างที่เราคิดไม่ถึงมากมาย อย่างที่เราเคยได้ยินว่าพืชบางชนิดกินแมลงเป็นอาหาร หรือบางชนิดมีพิษ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาพืชที่พบและอธิบายพันธุ์พืชได้มากกว่า 350,000 สายพันธุ์ แต่ก็ยังคงมีอีกจำนวนมากที่เรายังไม่ได้ทำการศึกษาหรือค้นพบ

ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
น้ำ พืชใช้น้ำในการปรุงอาหาร ละลายธาตุอาหารต่างๆ ในดิน ซึ่งเป็นอาหารของพืช นอกจากนี้น้ำยังให้ธาตุออกซิเจนและไฮโดรเจนแก่พืชด้วย
แสงแดด ช่วยในการสร้างอาหารของพืชหรือสังเคราะห์แสง อาหารที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสง คือ น้ำตาล(พืชจะเก็บในรูปของแป้ง) และก๊าซออกซิเจน
อากาศ พืชจะหายใจทั้งเวลากลางวันและกลางคืน การหายใจในเวลากลางคืนของพืชนั้น พืชต้องการใช้ก๊าซออกซิเจน ส่วนการหายใจและการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชในเวลากลางวันนั้น พืชต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
แร่ธาตุอาหาร พืชต้องการแร่ธาตุอาหาร แต่อาหารของพืชไม่เหมือนกัน แร่ธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรตัสเซียม และแร่ธาตุอาหารอื่น ๆ ซึ่งพืชจะใช้รากดูดแร่ธาตุอาหารเหล่านี้จากดินไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืช ธาตุอาหารได้มาหลายทาง ที่สำคัญ คือ ได้มาจากปุ๋ยหรือฮิวมัสในดิน
แร่ธาตุอาหารที่สำคัญ ได้แก่
ไนโตรเจน ( N )
พืชโดยทั่วไปมีความต้องการธาตุไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก เป็นธาตุอาหารที่สำคัญมากในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของพืช พืชที่ได้รับไนโตรเจนอย่างเพียงพอ ใบจะมีสีเขียวสด มีความแข็งแรง โตเร็ว และทำให้พืชออกดอกและผลที่สมบูรณ์
พืชเมื่อขาดไนโตรเจนจะแคระแกร็น โตช้า ใบเหลือง โดยเฉพาะใบล่าง ๆ จะแห้ง ร่วงหล่นเร็วทำให้แลดูต้นโกร๋น การออกดอกออกผลจะช้า
ฟอสฟอรัส ( P )
พืชเมื่อขาดฟอสฟอรัสจะมีต้นแคระแกร็น ใบมีสีเขียวคล้ำ ใบล่าง ๆ จะมีสีม่วงตามบริเวณขอบใบ รากของพืชชะงักการเจริญเติบโต พืชไม่ออกดอกและผล พืชที่ได้รับฟอสฟอรัสอย่างเพียงพอจะมีระบบรากที่แข็งแรงแพร่กระจายอยู่ในดินอย่างกว้างขวาง สามารถดึงดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดี การออกดอกออกผลจะเร็วขึ้น
โพแทสเซียม ( K )
ธาตุโพแทสเซียมมีความสำคัญในการสร้างและการเคลื่อนย้ายอาหารพวกแป้งและน้ำตาลไปเลี้ยงส่วนที่กำลังเติบโต และส่งไปเก็บไว้เป็นเสบียงที่หัวหรือที่ลำต้น ดังนั้นพืชพวกอ้อย มะพร้าว และมัน จึงต้องการโพแทสเซียมสูงมาก ถ้าขาดโพแทสเซียมหัวจะลีบ มะพร้าวไม่มัน และอ้อยก็ไม่ค่อยมีน้ำตาล พืชที่ขาดโพแทสเซียมมักเหี่ยวง่าย แคระแกร็น ใบล่างเหลืองและเกิดเป็นรอยไหม้ตามขอบใบ


ที่มา : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 18
http://www.school.net.th/library/snet6/envi2/subsoil/potas.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น