วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.2 เรื่อง รากพืช

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.2 เรื่อง รากพืช
ราก (root) เป็นส่วนประกอบของพืชที่เจริญเติบโตลงสู่ดินตามแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อช่วยยึดลำต้นให้ติดกับพื้นดิน รากพืชส่วนใหญ่ไม่มีคลอโรฟิลล์ ชนิดของรากเมื่อแยกตามกำเนิด จำแนกออกเป็น 3 ชนิด
ชนิดของราก
1. Primary root หรือ รากแก้ว (tap root) มีลักษณะ ตอนโคนจะโตแล้วค่อยเรียวเล็กลงไปจนถึงปลาย จะยาวและใหญ่กว่ารากอื่นๆ ที่แยกออกไปทำหน้าที่เป็นหลักรับส่วนอื่นๆ ให้ทรงตัวอยู่ได้ รากชนิดนี้พบในพืชใบเลี้ยงคู่ที่งอกออกจากเมล็ดโดยปกติ ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่งอกออกจากเมล็ดใหม่ๆ ก็มีรากระบบนี้เหมือนกันแต่มีอายุได้ไม่นานก็เน่าเปื่อยไปแล้วเกิดรากชนิดใหม่ขึ้นมาแทน(รากฝอย)
2. Secondary root หรือรากแขนง(branch root) เป็นรากที่เจริญเติบโตออกมาจากรากแก้ว มักงอกเอียงลงไปในดินจนเกือบขนานหรือขนานไปกับพื้นดิน รากชนิดนี้อาจแตกแขนงออกเป็นทอดๆ ได้อีกเรื่อยๆ
3. Adventitious root หรือ รากวิสามัญ เป็นรากที่ไม่ได้กำเนิดมาจากรากแก้วหรือ รากแขนง รากพืชชนิดนี้อาจแตกออกจากโคนต้นของพืช ตามข้อของลำต้นหรือกิ่ง ตามใบหรือจากกิ่งตอนของไม้ผลทุกชนิด แยกเป็นชนิดย่อยได้ตามรูปร่างและหน้าที่ เช่น รากค้ำจุน รากเกาะ เป็นต้น
หน้าที่ของราก
ราก มีหน้าที่หลักที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ
1. ดูดน้ำ และแร่ธาตุ จากพื้นดินส่งขึ้นไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ซึ่งต้องนำไปผ่านกระบวนการปรุง หรือการสังเคราะห์ด้วยแสงก่อน ปัจจุบันได้มีการพัฒนาปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน แต่จะเอารากไปแช่ในน้ำซึ่งมีปุ๋ย หรือธาตุอาหารผสมอยู่ ดังนั้นการดูดน้ำหรือแร่ธาตุที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะไม่ใช่จากพื้นดินเสมอไป
2. ยึดลำต้นให้ติดกับพื้นดิน พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่กับที่มีลำต้นชี้ขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ส่งกิ่งก้านที่มีใบติดอยู่ขึ้นรับแสงอาทิตย์เพื่อปรุงอาหาร ถ้าพืชไม่มีรากลำต้นจะตั้งตรงหรือยึดเกาะหน้าดินอยู่ไม่ได้



หน้าที่พิเศษของราก
พืชบางชนิด มีรากซึ่งทำหน้าที่พิเศษ ซึ่งรากชนิดนี้เป็นรากที่เจริญมาจากรากวิสามัญหรือ Adventitious root แบ่งประเภทได้ตามรูปร่างและหน้าที่พิเศษ ดังนี้
- รากฝอย (fibrous root) เป็นรากเส้นเล็กๆมากมาย ขนาดเท่ากันตลอดเส้นราก ไม่เรียวลงที่ปลายอย่างรากแก้ว งอกออกจากรอบโคนต้นแทนรากแก้วที่ฝ่อเสียไปหรือที่หยุด การเจริญเติบโต มักพบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่
- รากค้ำจุน (Prop root) เป็นรากที่แตกออกมาจากข้อของลำต้นที่อยู่ใต้ดิน และเหนือดินขึ้นมาเล็กน้อย และพุ่งแทงลงไปในดิน เพื่อช่วยในการพยุงลำต้นไม่ให้ล้มง่าย เช่น รากค้ำจุนของต้นข้าวโพด ต้นลำเจียก ต้นโกงกาง เป็นต้น
- รากเกาะ (Climbing root) เป็นรากที่แตกออกมาจากข้อของลำต้นแล้วมาเกาะตามหลักหรือเสา เพื่อพยุงลำต้นให้ติดแน่นและชูลำต้นขึ้นที่สูง เช่น พลู พลูด่าง กล้วยไม้ เป็นต้น
- รากสังเคราะห์แสง (photosynthtic root) เป็นรากที่แตกออกมาจากข้อของลำต้น แล้วห้อยลงมาในอากาศ มีสีเขียวของคลอโรฟิลล์ เป็นรากที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง เช่น รากกล้วยไม้ที่มีสีเขียว รากของไทร โกงกาง เป็นต้น
- รากหายใจ (Respiratory root)รากพวกนี้เป็นแขนงงอกออกจากรากใหญ่ที่แทงลงไปในดินอีกทีหนึ่ง แต่จะชูปลายรากขึ้นมาเหนือดินหรือผิวน้ำ บางทีก็ลอยตามผิวน้ำ เช่น รากของแพงพวย กล้วยไม้ ไทร เป็นต้น


- รากกาฝาก (Parasitic root) เป็นรากของพืชบางชนิดที่เป็นปรสิต เช่น รากของต้นกาฝาก ต้นฝอยทอง เป็นต้น
- รากสะสมอาหาร (storage root) เป็นรากที่ทำหน้าที่ในการสะสมอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล หรือ โปรตีนเอาไว้ ทำให้มีลักษณะอวบอ้วนเรามักเรียกว่า หัว เช่น หัวแครอท หัวผักกาด หัวมันเทศ หัวมันแกว มันสำปะหลัง กระชาย เป็นต้น
ภาพตัดขวางแสดงเซลล์รากพืช
อ้างอิงจาก
http://www.promma.ac.th/biology/web5/p3.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น