วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.5 เรื่อง ส่วนประกอบของดอก

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.5 เรื่อง ส่วนประกอบของดอก
โดยทั่วไปดอกจะเป็นส่วนที่สวยที่สุดของต้นไม้ เนื่องจากมีสีสันสวยงามน่าประทับใจ อย่างไรก็ตามยังมีดอกไม้บางชนิดที่ไม่ได้มีสีสวยงามอย่างที่ควรจะเป็น เช่น ดอกหญ้า นอกจากนี้ดอกไม้บางชนิดยังมีกลิ่นหอม เช่น กุหลาบ มะลิ บางชนิดมีกลิ่นเหม็น เช่น อุตพิษ พังพวย ราฟเฟิลเซีย บางชนิดออกเป็นดอกเดี่ยว เช่น ชบา บัว บางชนิดมีดอกเป็นกลุ่ม เช่น ดอกเข็ม ลีลาวดี บางชนิดสามารถเปลี่ยนสีดอกได้ตามช่วงเวลาอีกด้วย เช่น ชบาทะเล พุดน้ำบุษ
ดอก เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของพืช โดยดอกจะบานเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ถ้ายังไม่ได้รับการผสมพันธุ์ดอกจะเหี่ยวเฉาลงในที่สุด โดยอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้จะผลิตละอองเรณู และเพศเมียจะผลิตเซลล์ไข่ การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นเมื่อละอองเรณูจากเพศผู้ตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย ละอองเกสรตัวผู้จะเคลื่อนตัวเข้าไปผสมไข่อ่อนในรังไข่เกสรตัวเมีย เรียกว่า เกิด “การปฏิสนธิ” เมื่อเมล็ดเจริญขึ้นรังไข่ในดอกจะกลายเป็นผล ซึ่งผลทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องเมล็ด จนกระทั่งเมล็ดพร้อมที่จะเจริญเป็นต้นใหม่
ดอกไม้ มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 อย่าง คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย
1.กลีบเลี้ยง คือ กลีบชั้นนอกสุดของดอกไม้ มักมีสีเขียวทำหน้าที่ป้องกันส่วนอื่นๆของดอกไม้ รวมทั้งแมลง ในช่วงที่กำลังเจริญเติบโต เมื่อดอกไม้มีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะดันกลีบเลี้ยงให้แยกออกจากกัน
2.กลีบดอก โครงสร้างชั้นถัดจากกลีบเลี้ยง ทำหน้าที่ป้องกันเกสรในขณะที่ดอกยังอ่อนอยู่ และทำหน้าที่ล่อแมลงเพื่อช่วยในการถ่ายละอองเรณูในการผสมเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย โดยมากมักจะมีสีสันสวยงาม
3.เกสรตัวผู้ ส่วนที่ใช้สืบพันธุ์เพศผู้ของดอกไม้ ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ประกอบด้วย
- อับละอองเรณู คือ ส่วนปลายสุดของก้านเกสร มีลักษณะเป็นฝุ่นผงละเอียด
- ก้านชูอับละอองเรณู คือ เป็นส่วนที่ต่อจากยอดเกสรตัวผู้ลงมามีลักษณะเป็นท่อยาวเรียงลงมา และโดยมากละอองเรณูจะมีลักษณะเป็นผงละเอียด
4.เกสรตัวเมีย อวัยวะหนึ่งของดอกไม้ที่ใช้สืบพันธุ์ ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์ เพศเมีย ประกอบด้วย
- ยอดเกสรตัวเมีย คือ ส่วนปลายสุดของก้านเกสรตัวเมีย มีลักษณะเป็นปุ่ม มีขน หรือยางเหนียวๆ สำหรับดับจับละอองเรณูที่ปลิวมาหรือติดขาแมลงพามา
- ก้านชูเกสรตัวเมีย คือ เป็นส่วนที่ต่อจากยอดเกสรตัวเมียลงมามีลักษณะเป็นท่อยาวเรียงลงมาถึงรังไข่
- รังไข่ คือ ส่วนที่อยู่ติดกับฐานดอก มีลักษณะพองโตออกเป็นกระเปาะ ใช้ทำหน้าที่ป้องกันไข่อ่อน
- ไข่อ่อน คือ ส่วนที่อยู่ในถุงเก็บเซลล์ไข่ (ออวุล) ซึ่งจะซ่อนอยู่ภายในรังไข่
ประเภทของดอกไม้
เราสามารถจัดจำแนกดอกไม้โดยใช้เกณฑ์หลายๆ แบบ อาทิ
1.จำแนกตามลักษณะของเพศ ได้ดังนี้
· 1.1 ดอกสมบูรณ์เพศ คือ ดอกที่มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน เช่น ดอกตำลึง พู่ระหง กุหลาบ มะเขือ พริก เป็นต้น
· 1.2 ดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือ ในดอกจะมีเพียงเกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดอกที่มีแต่เกสรตัวผู้ เรียก “ดอกตัวผู้” ดอกที่มีแต่เกสรตัวเมีย เรียก “ดอก-ตัวเมีย” ดอกไม้ที่ไม่มีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมีย เรียก “ดอกเป็นกลางหรือดอกเป็นหมัน” และหากในพืชต้นหนึ่งๆ มีดอกสมบูรณ์เพศหรือมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียในต้นเดียวกัน แม้จะคนละดอกหรือต่างช่อดอก เรียกพืชต้นนั้นว่า พืชกะเทย เช่น ข้าวโพด
·
2.จำแนกตามส่วนประกอบของดอก ได้ดังนี้
2.1 ดอกครบส่วน คือ ดอกที่มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ครบ เช่น กุหลาบ เป็นต้น
2.2 ดอกไม่ครบส่วน คือ ดอกที่มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ไม่ครบ เช่น กล้วยไม้ เป็นต้น

3.จำแนกตามจำนวนดอกในแต่ละช่อ ได้ดังนี้
· 3.1 ดอกเดี่ยว เป็นดอกที่เกิดขึ้นบนก้านดอก เป็นดอกเดียวโดดๆ ในแต่ละข้อของกิ่งหรือลำต้น เช่น ชบา จำปี การะเวก เป็นต้น
3.2 ดอกช่อ เป็นดอกที่เกิดเป็นกลุ่มอยู่บนก้านดอกใหญ่เดียวกัน และประกอบด้วยก้านดอกย่อยๆ หลายดอก เช่น กล้วยไม้ มะลิ เข็ม เป็นต้น

วัฏจักรชีวิตพืชดอก
เมื่อนำเมล็ดพืชไปปลูกสักระยะหนึ่ง เมล็ดพืชจะค่อย ๆ งอกรากออกมาต่อจากนั้นลำต้นจะงอกออกมาจนเป็นต้นพืชเล็ก ๆ และเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและสูงขึ้น เมื่อต้นพืชเจริญเติบโตเต็มที่ จะออกดอก และเมื่อดอกได้รับการผสมพันธุ์ก็จะเกิดเป็นผล ซึ่งภายในผลของพืชมีเมล็ดที่สามารถเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ต่อไป
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว เรียกว่า “วัฏจักรชีวิตของพืชดอก” ซึ่งจะเกิดหมุนเวียนกันไป

วัฏจักรชีวิตของพืชดอก
1) เมล็ดงอกราก
2) มีการงอกของลำต้น
3) มีการเจริญเติบโตของใบและส่วนต่างๆ จนกลายเป็นต้นที่เจริญเต็มที่
4) ออกดอกเพื่อเข้าสู่ช่วงการผสมพันธุ์
5) ดอกได้รับการผสมกลายเป็นผล ซึ่งภายในผลจะมีเมล็ดอยู่เพื่อการขยายพันธุ์ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น