วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.3 เรื่อง หน้าที่ของลำต้น

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.3 เรื่อง หน้าที่ของลำต้น
ลำต้นเป็นส่วนประกอบหนึ่งของพืชที่คอยรองรับกิ่งและใบพืช โดยส่วนใหญ่แล้ว ลำต้นจะเป็นส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นไปหรืออยู่ในอากาศ ลำต้นจะเชื่อมต่อรากและใบ เราจะพบว่าส่วนใหญ่ลำต้นจะเจริญเติบโตในแนวดิ่ง พืชที่สูง ลำต้นหนา ใหญ่ และลำต้นแข็ง เราจะเรียกพืชกลุ่มนี้ว่า ไม้ยืนต้น(Tree) ส่วนพืชบางชนิดที่ต้นเตี้ยและเป็นพุ่ม มีขนาดลำต้นเล็กกว่าพืชยืนต้น เราเรียกพืชกลุ่มนี้ว่า ไม้พุ่ม(Shrub) ทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่มมีลำต้นที่แข็งและตั้งตรงขึ้นไป แต่เราจะพบว่าพืชบางชนิดมีลำต้นที่ไม่แข็งนักจนมันไม่สามารถตั้งลำต้นให้ตรงได้ เราเรียกพืชกลุ่มนี้ว่า ไม้เลื้อย เรามักใช้พืชกลุ่มนี้ทำรั้ว เกาะประดับกำแพง ผนัง หรือปลูกคลุมดิน
ขนาดของลำต้นขึ้นอยู่กับจำนวนกิ่งที่อยู่ต่อขึ้นไปจากลำต้น บริเวณลำต้นจะมีเปลือกไม้ปกคลุมอยู่ที่ผิวด้านนอกของลำต้น เปลือกไม้มีลักษณะต่างๆ กันมากมาย ทั้งสี ความหนา และลักษณะพื้นผิวสัมผัส
เราจะสังเกตว่าบริเวณลำต้นมีจุดเล็กอยู่ด้านข้างด้วย เราเรียกว่า ตาพืช และตรงปลายบนสุดของลำต้นมีใบพืชขนาดเล็กละมีสีเขียวอ่อนอยู่ เราเรียกว่า ยอดพืช
ยอดพืช คือ ลำต้นอ่อนที่งอกจากเมล็ดหรือลำต้นหลัก
ตาพืช คือ จุดเจริญเล็กๆ บนลำต้น ซึ่งอาจมีการพัฒนาไปเป็นยอดพืชหรือดอกก็ได้

หน้าที่หลักและหน้าที่พิเศษของลำต้น
1. เป็นทางลำเลียงน้ำ และอาหารจากรากสู่ส่วนต่าง ๆ ของพืช
2. เป็นโครงสร้างหลักเพื่อให้ส่วนประกอบอื่นๆ สามารถอยู่รวมกันได้
3. ลำต้นทำหน้าที่ชูกิ่ง ก้าน ใบ ดอก เพื่อรับแสงแดด
4. เป็นที่เก็บสะสมอาหารในพืชบางชนิด เช่น ขึ้นฉ่าย ไผ่ และกวนอิม เป็นต้น
5. ช่วยในการสังเคราะห์แสง พืชกลุ่มนี้มักมีใบขนาดเล็กเกินกว่าจะรับแสงอาทิตย์ได้เพียงพอ เช่น กระบองเพชร
ลำต้นของพืช จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามตำแหน่งที่อยู่ ได้แก่
1. พืชที่มีลำต้นบนดิน
พืชที่มีลำต้นบนดิน ได้แก่ มะพร้าว มะเขือ ข้าว มะม่วง ขนุน กระเพรา

ลักษณะของลำต้นบนดิน
พืชส่วนใหญ่มีลำต้นอยู่บนดิน ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็นหลายลักษณะ เช่น
1. ลำต้นตั้งตรง เป็นลำต้นของพืชยืนต้นทั่วไป เช่น ยางพารา เงาะ มะพร้าว มะละกอ เป็นต้น
2. ลำต้นเลื้อย เป็นลำต้นที่เลื้อยไปตามพื้นดิน หรือพื้นน้ำ บริเวณข้อมักมีรากงอกออกมาเพื่อหาอาหารโดยการแทงลงดิน และช่วยยึดลำต้นเอาไว้ เช่น ผักบุ้ง ผักแว่น หญ้า เป็นต้น
3. ลำต้นไต่พันหลัก เป็นลำต้นอ่อนเลื้อยแล้วไต่ขึ้นที่สูง โดยไต่พันหลักเป็นเกลียว เช่น เถาวัลย์ ต่าง ๆ
4. ลำต้นเปลี่ยนเป็นมือเกาะ เป็นส่วนของลำต้นที่ดัดแปลงไปเป็นมือเกาะ โดยส่วนของมือเกาะจะบิดเป็นเกลียวคล้ายลวดสปริงยืดหยุ่นได้ เช่น บวบ แตงกวา ตำลึง เป็นต้น
5. ลำต้นเปลี่ยนเป็นหนาม เป็นส่วนของลำต้นที่เปลี่ยนไปเป็นหนาม หรือขอเกี่ยว ช่วยในการไต่ขึ้นที่สูง และป้องกันอันตราย เช่น เฟื่องฟ้า ไมยราบ เป็นต้น
2. พืชที่มีลำต้นใต้ดิน
พืชที่มีลำต้นใต้ดินมักมีลักษณะเป็นเหง้า เป็นหัว เราจะแยกรากกับลำต้นได้โดยดูข้อปล้อง หากที่หัวหรือเหง้ามีข้อปล้องหรือตา แสดงว่าเป็นลำต้นที่ใช้สะสมอาหาร พืชที่มีลำต้นใต้ดิน เช่น แห้ว ขิง ข่า เผือก มันฝรั่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น