วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2553

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 6.5 เรื่อง สารปรุงแต่งอาหาร

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 6.5 เรื่อง สารปรุงแต่งอาหาร
นอกจากที่เราจะต้องรับประทานอาหารให้ร่างกายได้รับพลังงานเหมาะสมตามความต้องการของร่างกายแล้วนั้น เรายังต้องรับประทานอาหารที่ดี นั่นคือรับประทานอาหารที่ไม่ใส่วัตถุปรุงแต่งอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเราสามารถตรวจสอบได้จากฉลากข้อมูลทางโภชนาการ ซึ่งจะบอกให้เราทราบถึงชนิดและปริมาณของวัตถุที่ปรุงแต่งอยู่ในอาหารนั้นๆ และที่สำคัญเราควรสังเกตตราสัญลักษณ์รับรองอาหารที่ได้มาตรฐานอีกด้วย
สัญลักษณ์ขององค์การอาหารและยา

สารปรุงแต่งอาหาร
สารปรุงแต่งอาหาร หมายถึง สารปรุงรสอาหารใช้ใส่ในอาหารเพื่อทำให้อาหารมีรสดีขึ้น เช่น น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว ซอสมะเขือเทศ และให้รสชาติต่างๆ เช่น
- น้ำตาล ให้รสหวาน - เกลือ น้ำปลา ให้รสเค็ม - น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว ซอสมะเขือเทศ ให้รสเปรี้ยว
ประเภทของสารปรุงแต่งอาหาร โดยใช้ที่มาของสารเป็นเกณฑ์
แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1. ได้จากการสังเคราะห์ เช่น น้ำส้มสายชู น้ำปลา ซีอิ๊ว ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น
2. ได้จากธรรมชาติ เช่น เกลือ น้ำมะนาว น้ำมะขามเปียก อัญชัน เป็นต้น

ประเภทของสารปรุงแต่งอาหาร โดยใช้อันตรายของสารเป็นเกณฑ์แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. ประเภทที่ไม่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย ได้แก่ 1.1 สีต่าง ๆ ที่ใช้ผสมอาหาร ซึ่งเป็นสีธรรมชาติ ได้แก่ สีเขียว จากใบเตยหอม พริกเขียว สีเหลือง จากขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ลูกตาลยี ไข่แดง ฟักทอง ดอก คำฝอย สีแดง จากดอกกระเจี๊ยบ มะเขือเทศ พริกแดง ถั่วแดง ครั่ง สีน้ำเงิน จากดอกอัญชัญ สีดำ จากกากมะพร้าวเผา ถั่วดำ ดอกดิน สีน้ำตาล จากน้ำตาลเคี่ยวไหม้ หรือคาราเมล 1.2 สารเคมีบางประเภท ได้แก่ 1.2.1 สารเคมีประเภทให้รสหวาน เช่น น้ำตาลทราย กลูโคส แบะแซ 1.2.2 สารเคมีบางประเภทให้รสเปรี้ยวในอาหาร เช่น กรดอะซีติก (กรดน้ำส้ม) กรดซิตริก (กรดมะนาว) 1.2.3 สารเคมีที่เป็นสารแต่งกลิ่น เช่น น้ำนมแมว หรือหัวน้ำหอมจากผลไม้ 2. ประเภทที่อาจเกิดอันตรายหากใช้เกินขอบเขต 2.1 สีผสมอาหาร ได้จากการสังเคราะห์สารเคมี แม้กฎหมายกำหนดให้ใช้สีสังเคราะห์สำหรับผสมอาหารได้ แต่หากใช้ในปริมาณมากและบ่อยก็อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคได้ ปริมาณสีที่อนุญาตให้ใช้ผสมในอาหารประเภทเครื่องดื่ม ไอศกรีม ลูกกวาด และขนมหวาน 2.2 ผงชูรส เป็นสารปรุงแต่งรสอาหาร มีชื่อทางเคมีว่า โมโนโซเดียม กลูตาเมท ผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง หรือ จากกากน้ำตาล ลักษณะของผงชูรสแท้จะเป็นเกล็ดหรือผลึกสีขาวขุ่น ปลายทั้ง 2 ข้างโตและมัน ตรงกลางคอดเล็กคล้ายกระดูก ไม่มีความวาวแบบสะท้อนแสง มีรสชาติคล้ายเนื้อต้ม ปริมาณที่ใช้ควรเพียงเล็กน้อย ถ้าบริโภคมากเกินไปอาจมีอาการแพ้ผงชูรสได้ ควรใช้ผงชูรสประมาณ 1/500-1/800 ส่วนของอาหารหรือประมาณ 1 ช้อนชาต่ออาหาร 10 ถ้วยตวง และไม่ควรใช้ผงชูรสในอาหารทารกและหญิงมีครรภ์ 2.3 สารเคมีที่ใช้กันเสียกันบูด เป็นสารประกอบทางเคมีหรือของผสมของสารประกอบที่ใช้เติมลงในอาหาร เพื่อชะลอการเน่าเสียหรือยืดอายุการเก็บอาหาร โดยจะไปทำให้การเจริญเติบโตของจุลินทรีย์หยุดชะงักหรือตายได้ กรณีที่จำเป็นต้องใช้ควรเลือกวัตถุกันเสียที่ปลอดภัยและใช้ในปริมาณที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของอาหาร 3. ประเภทเป็นพิษไม่ปลอดภัย เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
ปัจจุบันได้มีการใช้สารเคมีต่าง ๆ ปรุงแต่งอาหารเพื่อให้อาหารน่ารับประทานเก็บได้นานรวมทั้งราคาถูก และจากการตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐพบว่า มีการใช้สารเคมีที่กฎหมายห้ามใช้ในการปรุงแต่งในอาหาร ซึ่งทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคถึงชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น