วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 5.1 เรื่อง การจำแนกสัตว์

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 5.1 เรื่อง การจำแนกสัตว์

สัตว์ต่างๆ ในโลกนี้มีธรรมชาติและรูปแบบการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันมากมาย เช่น
- ขนาด สัตว์บางชนิดมีขนาดใหญ่ เช่น วาฬ ช้าง สิงโต เป็นต้น สัตว์บางชนิดมีขนาดเล็กมาก เช่น หมัด มด ยูง เป็นต้น
- รูปร่างลักษณะ สัตว์บางชนิดมี 4 ขา เช่น ช้าง ม้า วัว เป็นต้น บางชนิดมี 2 ขา เช่น นก เป็ด ไก่ เป็นต้น บางชนิดไม่มีขา เช่น งู ไส้เดือน เป็นต้น บางชนิดมีขามากมาย เช่น กิ้งกือ ตะขาบ เป็นต้น
- แหล่งที่อยู่อาศัย สัตว์บางชนิดอาศัยบนบก บางชนิดอาศัยอยู่ในน้ำ บางชนิดอาศัยอยู่บนต้นไม้
- การเจริญเติบโต สัตว์บางชนิด มีการเจริญเติบโตแตกต่างกัน สัตว์บางชนิดเจริญเติบโตโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะ เพียงแต่ตัวจะโตขึ้นเท่านั้น เช่น แมว ม้า ช้าง เป็นต้น แต่สัตว์บางชนิดจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะในระหว่างที่มันเจริญเติบโต เช่น ยุง ผีเสื้อ กบ เป็นต้น

ในการจำแนกสัตว์นั้น นักวิทยาศาสตร์จึงได้จำแนกสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันไว้ด้วยกัน โดยใช้เกณฑ์ต่างๆ เช่น อุณหภูมิร่างกาย การหายใจ การสืบพันธุ์ และกระดูกสันหลัง เป็นต้น ในการจำแนกสัตว์มีความคล้ายคลึงกับการจำแนกพืช คือ มีเกณฑ์หลายเกณฑ์ที่ใช้ โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกสัตว์มีดังเช่น

1.เกณฑ์ที่ใช้กระดูกสันหลังเป็นเกณฑ์จะสัตว์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1.1. สัตว์มีกระดูกสันหลัง ถ้าแบ่งตามอุณหภูมิร่างกายได้ 2 กลุ่ม คือ
- สัตว์เลือดเย็น เช่น จำพวกปลา (ปลาต่าง ๆ) จำพวกสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (กบ)
และจำพวกสัตว์เลื้อยคลาน (เต่า)
- สัตว์เลือดอุ่น เช่น จำพวกสัตว์ปีก (นก) และจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (สุนัข
ช้าง คน)
1.2. สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ถ้าแบ่งตามลักษณะเด่นได้ 3 กลุ่มคือ
- พวกลำตัวเป็นโพรง เช่น จำพวกลำตัวพรุน (ฟองน้ำหินปูน) และจำพวกลำตัว มีโพรง (แมงกะพรุน)



- พวกลำตัวคล้ายหนอน เช่น จำพวกหนอนตัวแบน (พยาธิตัวตืด) จำพวกหนอน ตัวกลม (พยาธิไส้เดือน) และจำพวกหนอนปล้อง (ไส้เดือนดิน)




- พวกมีเปลือกแข็งหุ้มภายนอก เช่น จำพวกมีขาเป็นข้อ (ผีเสื้อ) จำพวกลำตัวนิ่ม(หอย) และจำพวกสัตว์ทะเลผิวขรุขระ (ดาวทะเล)




2.เกณฑ์ที่ใช้ลักษณะสำคัญเป็นเกณฑ์ แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ
2.1 สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น สุนัข แมว หนู โลมา วาฬ เป็นต้น
ลักษณะสำคัญ สัตว์ชนิดนี้มีต่อมน้ำนมไว้สำหรับเลี้ยงลูกอ่อนของมัน ร่างกายปกคลุมด้วยขนแบบเส้น หายใจด้วยปอด
แหล่งที่อยู่อาศัย สัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่บนบก แต่บางชนิดอาศัยอยู่ในน้ำและมีรูปร่างคล้ายปลา เช่น วาฬ โลมา พะยูน
อาหาร สัตว์ประเภทนี้มีทั้งชนิดที่กินพืชและสัตว์เป็นอาหาร
2.2 สัตว์เลื้อยคลาน เช่น จระเข้ งู เต่า จิ้งจก เป็นต้น
ลักษณะสำคัญ สัตว์ชนิดนี้ร่างกายมีผิวหนังที่เป็นเกล็ดแข็งแห้งปกคลุม หรือมีกระดองแข็งหุ้มทั้งตัว หายใจด้วยปอด
แหล่งที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนบก บางชนิดอาศัยในน้ำ แต่สามารถคลานมาอยู่บนบกได้
อาหาร ได้แก่ แมลง หรือสัตว์ขนาดเล็ก
2.3 ปลา เป็นสัตว์น้ำ อาศัยทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม
ลักษณะสำคัญ ปลามีรูปร่างเรียวยาวลำตัวค่อยข้างแบน ผิวหนังมีเกล็ดและมีเมือกลื่น ๆ ปกคลุม มีครีบ ใช้ในการว่ายน้ำและทรงตัว หายใจด้วยเหงือก
แหล่งที่อยู่อาศัย อาศัยในน้ำจืดและน้ำเค็ม
อาหาร ได้แก่ พืชน้ำ และสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ลูกน้ำ ไรแดง ลูกกุ้ง ลูกปลา แมลง
2.4 สัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก เช่น กบ อึ่งอ่าง คางคก ปาด เขียด
ลักษณะสำคัญ เป็นสัตว์สี่เท้า ลำตัวปกคลุมด้วยผิวหนังอ่อนนุ่มและเปียกชื้นตลอดเวลา ตัวอ่อนของสัตว์ชนิดนี้หายใจโดยใช้เหงือก ส่วนตัวเต็มวัยหายใจโดยใช้ปอด
แหล่งที่อยู่อาศัย เมื่อตัวอ่อน (ลูกอ๊อด) ออกจากไข่จะอาศัยอยู่ในน้ำ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่จึงขึ้นมาอาศัยอยู่บนบก
อาหาร ลูกอ๊อดกินพืชน้ำเป็นอาหารและสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยกินแมลงและหนอน
2.5 สัตว์ปีก เช่น นก ไก่ เป็ด เป็นต้น
ลักษณะสำคัญ เป็นสัตว์สองเท้า และมีปีก 1 คู่ ร่างกายปกคลุมด้วยขนที่มีก้าน กระดูกทั่วร่างกายเป็นโพรงทำให้ตัวเบา หายใจด้วยปอด
แหล่งที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่อาศัยบนบก
อาหาร ได้แก่ เมล็ดข้าวชนิดต่าง ๆ ผลไม้ แมลง หนอน บางชนิดกินปลา หอย ปู

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 5.5 เรื่อง ประโยชน์ของสัตว์

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 5.5 เรื่อง ประโยชน์ของสัตว์
สัตว์มีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมายหลายด้าน โดยส่วนใหญ่จะเป็นประโยชน์ทางอ้อมมากกว่าทางตรง จึงเป็นสาเหตุให้เราให้ความสำคัญกับสัตว์ต่างๆ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เราจึงควรศึกษาในเรื่องประโยชน์ของสัตว์ เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงประโยชน์ของสัตว์ต่างๆ ดังนี้

ประโยชน์ของสัตว์ ด้านต่างๆ เช่น
1.ด้านการเกษตร
~ ใช้แรงงานจากสัตว์ในการทำการเกษตร เช่น วัวควายใช้ไถนา ช้างใช้ลากซุง ลิงเก็บมะพร้าว
~ ใช้เป็นพาหนะ เช่น วัว ควาย ใช้เทียมเกวียนบรรทุกของ ช้างม้าใช้ขี่
~ ช่วยในการผสมเกสรดอกไม้ ทำให้เกิดเป็นผลใช้รับประทานและช่วยแพร่พันธุ์พืช เช่นผีเสื้อ ผึ้ง มิ้ม ต่อ แตน
~ ช่วยในการกำจัดศัตรูพืช เช่น กบช่วยกำจัดแมลง
~ ใช้ทำปุ๋ย เช่น ปุ๋ยคอกมาจากมูลของสัตว์ซึ่งจัดเป็นปุ๋ยธรรมชาติช่วยบำรุงดิน ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม
2.ด้านการแพทย์
~ ใช้ในการศึกษาวิจัย โครงสร้างระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายสิ่งมีชีวิต
~ ใช้ผลิตวัคซีน เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค เช่น ม้า งู
~ ใช้เป็นสัตว์ทดลอง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เมื่อได้รับวัคซีน เซรุ่ม
~ กำจัดสัตว์นำโรค
3.ด้านการบริโภคและอุปโภค
~ ใช้เป็นอาหารเช่น หมู วัว ควาย เป็ด ไก่ ปลา กุ้ง หอย
~ ใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม เช่น หนังของสัตว์บางชนิด เราสามารถนำมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มหรือ เครื่องใช้ เช่น กระเป๋า เข็มขัด ถุงมือ รองเท้า
~ ใช้ทำเครื่องใช้ โดยเอาส่วนต่าง ๆ ของสัตว์มาทำ เช่น เขาควาย ใช้ทำด้ามมีด





4.ด้านเศรษฐกิจ
~ การนำชิ้นส่วนต่าง ๆ ของสัตว์มาซื้อขายกัน เช่น หนังจระเข้ หนังงู
~ การจำหน่ายสัตว์ที่น่ารักและมีความสวยงาม เช่น สุนัข แมว นกต่าง ๆ รายได้
~ การเปิดบริการเข้าชมสัตว์ป่า ณ สถานที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นสวนสัตว์ปิด/เปิด
5.ด้านความปลอดภัย เช่น เฝ้าบ้าน ตรวจจับยาเสพติด ตรวจวัตถุระเบิด
6.ช่วยในชีวิตประจำวัน เช่น พยากรณ์อากาศ เพลิดเพลิน คลายเครียด ช่วยล่าสัตว์
7.ช่วยให้ดำรงห่วงโซ่อาหารไว้ได้


http://www.environnet.in.th/evdb/info/wildlife/wildlife5.html
http://blog.hunsa.com/vicky6208/blog/2918

ใบความรู้กิจกรรมที่ 5.4 เรื่อง วัฏจักรชีวิตของสัตว์

ใบความรู้กิจกรรมที่ 5.4 เรื่อง วัฏจักรชีวิตของสัตว์

ในการเจริญเติบโตของสัตว์ เราจะเห็นว่าบางชนิดมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างชัดเจน และบางชนิดเปลี่ยนแปลงเพียงแค่ขนาด เราเรียกการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของสัตว์ในระหว่างการเจริญเติบโตนี้ว่า metamorphosis เมตามอร์โฟซิส สัตว์บางชนิดมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจนดูเหมือนเป็นสัตว์ต่างชนิดกัน เช่น แมลงปอ กบ เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงรูปร่างในระหว่างการเจริญเติบโตนี้ มีหลายรูปแบบ เช่น
1.การเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis)
2.การเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete metamorphosis)

วัฏจักรชีวิตยุง
ยุงเป็นแมลงที่พบได้ทั่วโลกแต่พบมากในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ยุงมีวงจรชีวิตแบบสมบูรณ์ (complete metamorphosis) ซึ่งประกอบด้วย ไข่ (egg) ลูกน้ำ (larva; พหูพจน์ =larvae) ตัวโม่ง (pupa; พหูพจน์ =pupae) และยุงตัวแก่ (adult) ยุงเมื่อลอกคราบออกจากระยะตัวโม่งได้ไม่กี่นาทีก็สามารถออกบินได้เลย อาหารที่ใช้ในระยะนี้ของทั้งตัวผู้และตัวเมียเป็นน้ำหวานจากดอกไม้หรือต้นไม้ การผสมพันธุ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอากาศ ยุงตัวเมียส่วนใหญ่ผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวโดยที่เชื้ออสุจิจากตัวผู้จะถูกกักเก็บในถุงเก็บน้ำเชื้อ ซึ่งสามารถใช้ไปได้ตลอดชีวิตของมัน ส่วนยุงตัวผู้สามารถผสมพันธุ์ได้หลายครั้ง เมื่อไข่สุกเต็มที่ยุงตัวเมียจะหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมในการวางไข่ หลังจากวางไข่แล้วยุงตัวเมียก็ออกดูดเลือดใหม่และวางไข่ได้อีก บางชนิดที่มีอายุยืนมากอาจไข่ได้ร่วม 10 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 4-5 วัน ยุงตัวเมียวางไข่ประมาณ 30-300 ฟองต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของยุงและปริมาณเลือดที่กินเข้าไป
วัฏจักรชีวิตแมลงสาบ
แมลงสาบมีการเจริญเติบโตเป็นแบบไม่สมบูรณ์ (Incomplete metamorphosis) ซึ่งเป็นการเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปร่างและขนาด วงจรชีวิต (life cycle) ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ไข่ (egg), ตัวอ่อนหรือตัวกลางวัย (nymph), และตัวเต็มวัย (adult) ตัวอ่อนจะมีรูปร่างลักษณะคล้ายตัวเต็มวัยมาก ต่างกันที่ขนาด ปีก และอวัยวะสืบพันธุ์เท่านั้น แมลงสาบวางไข่เป็นกลุ่ม กลุ่มละหลายฟอง และจะเชื่อมติดกันเป็นกลุ่มด้วยสารเหนียวมีลักษณะเป็นแคปซูล จำนวนไข่ในแต่ละกระเปาะจะแตกต่างกันตามแต่ชนิดของแมลงสาบด้วย โดยทั่วไปจะมีประมาณ 16/18 ฟอง แต่อาจจะวางได้หลายชุด บางชนิดอาจจะวางเพียง 4-6 ชุด แต่บางชนิดอาจวางมากถึง 90 ชุด ก็ได้

ใบความรู้ กิจกรรม 5.3 เรื่อง ปัจจัยจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์

ใบความรู้ กิจกรรม 5.3 เรื่อง ปัจจัยจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์

ปัจจัยจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ มีดังนี้

1.อาหาร
สัตว์ต้องกินอาหาร เพื่อจะได้มีพลังงานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สัตว์แต่ละชนิดกินอาหารที่แตกต่างกันไป บางชนิดกินพืชเป็นอาหาร บางชนิดกินสัตว์เป็นอาหาร และบางชนิดกินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร
อาหาร (Food) หมายถึง ของกินหรือเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต ในทางอาหารสัตว์จะใช้คำว่า Feed ซึ่งจะหมายถึง สารหรือสิ่งของที่ภายหลังสัตว์กินเข้าไปแล้วสามารถถูกย่อย (Digested) ถูกดูดซึม (Absorbed) แล้วจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ (Utilized) ต่อร่างกายของสัตว์ได้ โดยส่วนของอาหารที่ถูกย่อยได้และถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จะเรียกว่าโภชนะหรือสารอาหาร (Nutrients) (http://km.kasettrang.ac.th/Nut-l1.doc)


2.น้ำ
สัตว์ต้องกินน้ำเพื่อให้ร่างกายสดชื่น ช่วยดับกระหาย สัตว์บางชนิดใช้น้ำทำความสะอาดร่างกาย หรือสัตว์บางชนิดอาศัยในน้ำ โดยสรุป สำหรับสัตว์แล้ว น้ำมีประโยชน์ ดังต่อไปนี้
- เซลล์ในร่างกาย ต้องการน้ำไปเพื่อไปทำให้โครงสร้างของเซลล์คงรูปอยู่ได้และสามารถทำงานได้อย่างปกติ
- น้ำเป็นตัวนำอาหารไปเลี้ยงกล้ามเนื้อต่าง ๆ และในเวลาเดียวกันน้ำก็เป็นตัวนำของเสียออกมาจากกล้ามเนื้อนั้น ๆ ด้วย และขับถ่ายออกมาจากร่างกายในรูปของเหงื่อและปัสสาวะ เป็นต้น
- น้ำช่วยในการเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของกล้ามเนื้อ ช่วยหล่อไขข้อต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้โลหิตไหลวนเวียนทั่วร่างกาย
- ช่วยรักษาและควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ หากร้อนเกินไปก็จะระบายความร้อนออกมาในรูปของเหงื่อ เป็นต้น

3.อากาศ
อากาศเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เนื่องจากสัตว์ทุกชนิดต้องใช้ก๊าซออกซิเจนในกระบวนการหายใจ และเพื่อเผาไหม้สารอาหารให้เป็นพลังงาน

4.ที่อยู่อาศัย
สัตว์แต่ละชนิดจะมีแหล่งที่อยู่ไว้นอน หากิน หลบภัยและดำรงชีวิตด้านต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป สัตว์บางชนิดอาศัยบนบก บางชนิดอาศัยบนต้นไม้ บางชนิดอาศัยในน้ำ

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 5.2 เรื่อง พฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 5.2 เรื่อง พฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์

พฤติกรรม หมายถึง การกระทำต่างๆ ของสัตว์ที่แสดงออกมา ท่าทางหรือปฏิกิริยาของสัตว์ที่แสดงออกมาเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเร้า ( สิ่งแวดล้อม ) ทั้งภายนอก และภายในร่างกายของสัตว์ เช่น การส่งเสียงร้อง การป้องกันอาณาเขต การล่าเหยื่อ เป็นต้น
สิ่งเร้าภายนอก ได้แก่ อุณหภูมิ แสงสว่าง เสียง กลิ่น อาหาร ศัตรู เหยื่อ การเคลื่อนไหว รูปร่างของวัตถุ
สิ่งเร้าภายใน ได้แก่ อารมณ์ ความเครียด ฮอร์โมน
พฤติกรรมที่สัตว์แสดงออกมานั้นส่วนใหญ่จะกระทำไปเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต และเพื่อความอยู่รอด ซึ่งพฤติกรรมบางอย่างก็เป็นพฤติกรรมที่มีมาตั้งแต่กำเนิด สามารถแสดงการตอบสนองได้เองโดยไม่ต้องฝึกฝน และบางอย่างก็เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้ภายหลัง

พฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกเพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ ตัวอย่างเช่น
พฤติกรรมการหาอาหารและการล่าเหยื่อเพื่อหาอาหาร
พฤติกรรมการอพยพย้ายถิ่น เพื่อหาแหล่งที่อยู่ที่มีอากาศอบอุ่นกว่า หรือมีอาหารอุดมสมบูรณ์มากกว่า
พฤติกรรมการต่อสู้ เพื่อแก่งแย่งอาณาเขต แย่งอาหาร หรือแย่งเพศตรงข้าม
พฤติกรรมการขู่ โดยการแสดงท่าทาง หรือปรับเปลี่ยนรูปร่างและสีสันให้ดูน่ากลัว เพื่อเตือนภัยไม่ให้ศัตรูเข้าใกล้
พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสี เพื่อดึงดูดเพศตรงข้ามให้มาผสมพันธุ์ด้วย
(http://school.obec.go.th/wattammaram/web6/biae.html)
ในการจัดประเภทของสัตว์ เราสามารถใช้พฤติกรรมของสัตว์เป็นเกณฑ์ในการแบ่งสัตว์ออกเป็นประเภทต่างๆ ได้อีกด้วย เช่น
1.พฤติกรรมการกินอาหารของสัตว์
พฤติกรรมด้านนี้สามารถแบ่งสัตว์ได้เป็น 3 ประเภท คือ
1.สัตว์กินพืชอย่างเดียว เช่น วัว กวาง กระต่าย เป็นต้น


2.สัตว์กินสัตว์อย่างเดียว เช่น เสือ สิงโต งู เป็นต้น


3.สัตว์ที่กินทั้งพืชและสัตว์ เช่น หมู คน สุนัข นก เป็นต้น


2.พฤติกรรมการออกลูก
พฤติกรรมด้านนี้สามารถแบ่งสัตว์ได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.สัตว์ที่ออกลูกเป็นตัว โดยที่ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตอยู่ในท้องก่อน เมื่อแข็งแรงขึ้นแล้วจึงคลอดออกมา เช่น ม้า วัว แมว เป็นต้น
2.สัตว์ที่ออกลูกเป็นไข่ จะคลอดออกมาเป็นไข่มีเปลือกหุ้ม เมื่อได้ระยะหนึ่งจะฟักตัวออกมา เช่น ไก่ เป็ด จระเข้ เป็นต้น

3.พฤติกรรมการออกหากิน
พฤติกรรมด้านนี้สามารถแบ่งสัตว์ได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.สัตว์ที่หากินกลางวัน เช่น ม้า วัว ลิง เป็นต้น
2.สัตว์ที่หากินกลางคืน เช่น ค้างคาว แมงป่อง งู ตะขาบ นางอาย เป็นต้น

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.4 เรื่อง ต้นไม้มีใบไว้ทำไม

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.4 เรื่อง ต้นไม้มีใบไว้ทำไม
ใบของพืช
บางครั้งเราสามารถระบุชนิดของพืชได้เพียงดูจากลักษณะของใบ ใบของพืชจะมีลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช ทั้งขนาด รูปทรง สี ความมันวาว และพื้นผิวสัมผัสของใบ
ใบของพืชนั้นมีประโยชน์มากมาย รู้ไหมว่าเราสามารถนำใบพืชไปทำอาหารได้ ห่ออาหาร หรือไว้ทำเครื่องดื่มก็ได้
ส่วนประกอบของใบหลักๆ มี 5 ส่วน ดังนี้
1. ปลายใบ
2. เส้นกลางใบ
3. เส้นใบ
เส้นใบของพืช มี 2 ลักษณะ คือ
1. เส้นใบแบบขนาน เส้นใบจะเรียงขนานไปตามความยาวของใบ หรือจากโคนใบไปยังปลายใบ เส้นใบแบบขนานจะพบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ไผ่ กล้วย มะพร้าว ฯลฯ โดยพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจะมีลักษณะสำคัญดังนี้

· มีใบเลี้ยงใบเดียว
· เส้นของใบจะเป็นแบบขนาน
· มีรากฝอยยึดลำต้น
· มีลำต้นเป็นข้อ และปล้องมองเห็นชัดเจน
· จำนวนกลีบดอกทั้ง 3 กลีบ หรือทวีคูณของ 3




2. เส้นใบแบบร่างแห เส้นใบจะแยกจากเส้นกลางใบคล้ายก้างปลา และจะมีเส้นใบเล็ก ๆ เชื่อมต่อกันเป็นร่างแห เส้นแบบร่างแหพบในพืชใบเลี้ยงคู่ เช่น ยางพารา ขนุน ชบา ฯลฯ พืชใบเลี้ยงคู่ มีลักษณะดังนี้
· มีใบเลี้ยงสองใบ
· มีเส้นใบจะเป็นแบบร่างแห
· ที่รากจะมีรากแก้วและรากแขนงยึดลำต้น
· ไม่สามารถมองเห็นข้อและปล้องได้ชัดเจน
· จำนวนกลีบดอกมี 4 – 5 กลีบ หรือทวีคูณของ 4 –5 ……….






4. ก้านใบ
5. จมูกใบ
ประเภทของใบ
ใบจำแนกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1.ใบเดี่ยว
จะประกอบด้วยใบเพียงใบเดียว เช่น มะม่วง บัว กล้วย ส้ม เป็นต้น

บัว มะม่วง
2.ใบประกอบ
จะประกอบด้วยใบขนาดเล็กมาประกอบกัน เรียกว่า ใบอ่อน ซึ่งจะงอกออกมาจากก้านใบเดียวกัน เช่น ไมยราบ มะขาม โมก มะพร้าว เป็นต้น

มะพร้าว เฟิร์น ผักแว่น

หน้าที่ของใบ
1. สังเคราะห์แสง โดยในใบจะมีสารสีเขียวที่เรียกว่า คลอโรฟิลล์ เมื่อใบได้รับแสงแดด ปากใบรับเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศเข้ามา และอาศัยน้ำที่รากดูดขึ้นมาเพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง กระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงจะเกิดเฉพาะเวลากลางวัน และเกิดที่ใบเป็นส่วนใหญ่ ผลที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสง คือ แป้งและออกซิเจน
2. หายใจ พืชจำเป็นต้องมีการหายใจตลอดเวลาเช่นเดียวกับสัตว์ ในเวลากลางวัน พืชจะหายใจเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมา เมื่อเราเข้าไปในป่า หรือนั่งใต้ต้นไม้ในเวลากลางวันจึงรู้สึกสดชื่น เนื่องจากได้รับอากาศบริสุทธิ์จากต้นไม้
3. คายน้ำ การคายน้ำเป็นการปรับอุณหภูมิภายในต้นพืชไม่ให้สูงมาก ในวันที่มีอากาศร้อนพืชจะคายน้ำมากกว่าวันที่อากาศปกติ
4. สะสมอาหาร พืชจะสะสมอาหารในรูปของแป้ง เพื่อเก็บไว้ใช้ในยามขาดแคลน เช่น กะหล่ำปลี ต้นหางจระเข้ เป็นต้น
5. ใช้ในการขยายพันธุ์ เช่น ต้นคว่ำตายหงายเป็น กุหลาบหิน เป็นต้น
6. ใช้ในการป้องกันอันตรายโดยเปลี่ยนเป็นหนาม เช่น กระบองเพชร เป็นต้น
7. ใช้ในการยึดลำต้นโดยเปลี่ยนเป็นหนวด ใช้ยึดติดกับสิ่งอื่น เช่น ตำลึง เป็นต้น

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.6

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.6
เรื่อง ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
เราจะพบเห็นพืชในแทบทุกพื้นที่ของโลก ไม่เว้นแม้แต่ตามทะเลทรายซึ่งมีความแห้งแล้งมากก็ยังมีพืชเจริญเติบโตอยู่หรือแม้ตามมหาสมุทรต่างๆ ก็ตาม
พืชที่เจริญเติบโตบนพื้นดิน เราเรียกพืชกลุ่มนี้ว่า พืชบก ซึ่งเราจะพบเห็นได้ทั่วไป ส่วนพืชอีกกลุ่มหนึ่งที่เจริญเติบโตในน้ำ เราเรียกว่า พืชน้ำ โดยพืชน้ำยังแบ่งออกเป็น พืชใต้น้ำ พืชที่อยู่บนผิวน้ำ พืชที่ลอยอยู่ใต้ผิวน้ำ แต่ทั้งหมดต้องยังคงมีส่วนหนึ่งส่วนใดอยู่ในน้ำ เราจึงจะเรียกว่าพืชน้ำ
พืชนั้นมีความหลากหลายของพันธุ์แปลกๆ อย่างที่เราคิดไม่ถึงมากมาย อย่างที่เราเคยได้ยินว่าพืชบางชนิดกินแมลงเป็นอาหาร หรือบางชนิดมีพิษ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาพืชที่พบและอธิบายพันธุ์พืชได้มากกว่า 350,000 สายพันธุ์ แต่ก็ยังคงมีอีกจำนวนมากที่เรายังไม่ได้ทำการศึกษาหรือค้นพบ

ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
น้ำ พืชใช้น้ำในการปรุงอาหาร ละลายธาตุอาหารต่างๆ ในดิน ซึ่งเป็นอาหารของพืช นอกจากนี้น้ำยังให้ธาตุออกซิเจนและไฮโดรเจนแก่พืชด้วย
แสงแดด ช่วยในการสร้างอาหารของพืชหรือสังเคราะห์แสง อาหารที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสง คือ น้ำตาล(พืชจะเก็บในรูปของแป้ง) และก๊าซออกซิเจน
อากาศ พืชจะหายใจทั้งเวลากลางวันและกลางคืน การหายใจในเวลากลางคืนของพืชนั้น พืชต้องการใช้ก๊าซออกซิเจน ส่วนการหายใจและการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชในเวลากลางวันนั้น พืชต้องการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
แร่ธาตุอาหาร พืชต้องการแร่ธาตุอาหาร แต่อาหารของพืชไม่เหมือนกัน แร่ธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรตัสเซียม และแร่ธาตุอาหารอื่น ๆ ซึ่งพืชจะใช้รากดูดแร่ธาตุอาหารเหล่านี้จากดินไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของพืช ธาตุอาหารได้มาหลายทาง ที่สำคัญ คือ ได้มาจากปุ๋ยหรือฮิวมัสในดิน
แร่ธาตุอาหารที่สำคัญ ได้แก่
ไนโตรเจน ( N )
พืชโดยทั่วไปมีความต้องการธาตุไนโตรเจนเป็นจำนวนมาก เป็นธาตุอาหารที่สำคัญมากในการส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของพืช พืชที่ได้รับไนโตรเจนอย่างเพียงพอ ใบจะมีสีเขียวสด มีความแข็งแรง โตเร็ว และทำให้พืชออกดอกและผลที่สมบูรณ์
พืชเมื่อขาดไนโตรเจนจะแคระแกร็น โตช้า ใบเหลือง โดยเฉพาะใบล่าง ๆ จะแห้ง ร่วงหล่นเร็วทำให้แลดูต้นโกร๋น การออกดอกออกผลจะช้า
ฟอสฟอรัส ( P )
พืชเมื่อขาดฟอสฟอรัสจะมีต้นแคระแกร็น ใบมีสีเขียวคล้ำ ใบล่าง ๆ จะมีสีม่วงตามบริเวณขอบใบ รากของพืชชะงักการเจริญเติบโต พืชไม่ออกดอกและผล พืชที่ได้รับฟอสฟอรัสอย่างเพียงพอจะมีระบบรากที่แข็งแรงแพร่กระจายอยู่ในดินอย่างกว้างขวาง สามารถดึงดูดน้ำและธาตุอาหารได้ดี การออกดอกออกผลจะเร็วขึ้น
โพแทสเซียม ( K )
ธาตุโพแทสเซียมมีความสำคัญในการสร้างและการเคลื่อนย้ายอาหารพวกแป้งและน้ำตาลไปเลี้ยงส่วนที่กำลังเติบโต และส่งไปเก็บไว้เป็นเสบียงที่หัวหรือที่ลำต้น ดังนั้นพืชพวกอ้อย มะพร้าว และมัน จึงต้องการโพแทสเซียมสูงมาก ถ้าขาดโพแทสเซียมหัวจะลีบ มะพร้าวไม่มัน และอ้อยก็ไม่ค่อยมีน้ำตาล พืชที่ขาดโพแทสเซียมมักเหี่ยวง่าย แคระแกร็น ใบล่างเหลืองและเกิดเป็นรอยไหม้ตามขอบใบ


ที่มา : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เล่มที่ 18
http://www.school.net.th/library/snet6/envi2/subsoil/potas.htm

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.8 เรื่อง การตอบสนองของพืชต่อสิ่งเร้า

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.8 เรื่อง การตอบสนองของพืชต่อสิ่งเร้า
สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ได้รับในรูปแบบต่างๆ กัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความอยู่รอดในการดำรงชีวิต พืชจัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีชนิดหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ว่าพืชจะไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ แต่พืชมีการตอบสนองในหลายๆ รูปแบบเช่นกัน เช่น การหุบใบ การเปลี่ยนสี เป็นต้น
สิ่งเร้า หมายถึง สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกของสิ่งมีชีวิต เช่น แสง การสัมผัส ความชื้น ฮอร์โมน
การตอบสนองต่อสิ่งเร้า หมายถึง การแสดงออกของสิ่งมีชีวิตที่สนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากสิ่งเร้า
รูปแบบการตอบสนองต่อสิ่งเร้าของพืชแบบต่างๆ เช่น
การเบนเข้าหาหรือการหนีแสง พืชจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นแสง โดยส่วนของยอดลำต้นจะเจริญเข้าหาแสงสว่าง เช่น บริเวณป่าไม้ที่มีต้นไม้หน้าแน่น พืชจะมีลักษณะลำต้นสูงเพื่อแข่งขันกันรับแสงสว่าง ส่วนของรากจะเจริญหนีแสงสว่างเสมอ
อุณหภูมิ อุณหภูมิมีผลและทำให้เกิดการหุบ - บานของดอกไม้ ดอกไม้บางชนิดบานในเวลากลางวัน บางชนิดบานในเวลากลางคืน การบานของดอกไม้จะบานในช่วงที่เซลล์กำลังอยู่ในช่วงเจริญเติบโตอยู่เท่านั้น เมื่อเซลล์เจริญเต็มที่แล้วจะไม่เกิดการหุบ - บานอีกต่อไป
การสัมผัส พืชบางชนิดมีการเคลื่อนไหวได้ช้าจนเรามองไม่เห็น แต่พืชบางชนิดมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเมื่อเราไปสัมผัส เช่น ต้นไมยราบ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการสูญเสียของน้ำภายในเซลล์ของกลุ่มเซลล์บริเวณก้านใบ ทำให้ใบหุบทันที แต่เมื่อน้ำค่อย ๆ ซึมกลับเข้ามาในกลุ่มเซลล์บริเวณก้านใบใหม่ใบก็จะบาน นอกจากนี้ยังพบในต้นกาบหอยแครงโดยจะใบเมื่อแมลงบินมาถูกจะหุบงับแมลง ใบพืชตระกูลถั่วจะมีการนอนในขณะดวงอาทิตย์จะลับขอบฟ้า ต้นก้ามปูใบจะบานตอนกลางวันและหุบตอนกลางคืน
น้ำ เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืชโดยรากจะเคลื่อนที่เข้าบริเวณที่มีความชื้นและน้ำเท่านั้น
การตอบสนองต่อสิ่งเร้าการตอบสนองต่อสิ่งเร้า (Irritability) เป็นสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิตที่มีผลต่อการดำรงชีวิต จำแนกออกได้ 2 แบบ คือ1. ตอบสนองต่อสิ่งเร้าเนื่องจากการเจริญเติบโต1.1 แสงสว่างเป็นสิ่งเร้า เช่น การงอกและการเจริญเติบโตของลำต้นจะเคลื่อนไหวเบนเข้าหาแสงส่วนการงอกและการเติบโตของรากจะเคลื่อนไหวหนีแสง1.2 แรงดึงดูดของโลกเป็นสิ่งเร้า เช่น การงอกของรากจะเคลื่อนที่เข้าหาแรงดึงดูด1.3 อุณหภูมิเป็นสิ่งเร้า เช่น การออกดอกและการงอกของเมล็ดพืชบางชนิดในอุณหภูมิต่ำๆ1.4 สารเคมีเป็นสิ่งเร้า เช่น การงอกของละอองเรณูที่ตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย1.5 มีน้ำเป็นสิ่งเร้า เช่น การงอกและเจริญเติบโตของรากเข้าหาส่วนที่มีน้ำหรือความชื่น1.6 มีความสัมผัสเป็นสิ่งเร้า เช่น มือเกาะของพืชชนิดเลื้อย (ตำลึง องุ่น กระทกรก) เมื่อสัมผัสกับต้นไม้อื่นหรือเสา หรือหลักมันจะงอหรือเลี้ยวเข้าพันเอาไว้โดยรอบ เพื่อพยุงลำต้นเอาไว้2.การตอบสนองต่อสิ่งเร้าเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำภายในเซลล์ 2.1 การหุบของพืชบางชนิดตอนพลบค่ำเมื่อมีแสงเป็นสิ่งเร้า พืชที่มีลักษณะข้างต้น ได้แก่ ก้ามปู แค กระถิน ผักกระเฉด และถั่วต่างๆ2.2 การหุบใบของพืชบางชนิดเมื่อมีการสัมผัสหรือการกระเทือนเป็นสิ่งเร้า พืชบางชนิดเมื่อได้รับการสัมผัสหรือการสะเทือน กลุ่มเซลล์ที่โคนก้านใบจะสูญเสียน้ำให้กับช่องว่างระหว่างเซลล์ซึ่งจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และไม่ถาวร ได้แก่- การหุบใบของต้นไมยราบ ผักกระเฉด เมื่อถูกสัมผัสหรือถูกกระเทือน- การหุบใบของพืชพวกที่เปลี่ยนโครงสร้างมาจับแมลงเมื่อมีแมลงมาสัมผัส เช่น กาบ หอยแครง หม้อข้าวหม้อแกงลิง หยาดน้ำค้าง เป็นต้น2.3 การปิด – เปิดของปากใบ เมื่อมีแสงเป็นสิ่งเร้า- ในเวลากลางวัน เซลล์คุมมีกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง น้ำตาลในเซลล์คุมมีความเข้มข้นสูงกว่าเซลล์ข้างเคียง ทำให้น้ำจากเซลล์ข้างเคียงจึงแพร่ผ่านเข้าสู่เซลล์คุมจนเซลล์คุมแต่งออกทำให้ปากใบเปิด- ในเวลากลางคืนเมื่อพืชไม่ได้รับแสงจึงไม่มีกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงเกิดขึ้น ทำให้น้ำตาลในเซลล์คุมเข้มข้นน้อยกว่าเซลล์ข้างเคียง น้ำจากเซลล์คุมจึงสูญเสียออกไปให้เซลล์ข้างเคียง ทำให้เซลล์คุมเหี่ยว ปากใบที่อยู่ระหว่างเซลล์คุมจึงเปิดhttp://www.vcharkarn.com/vcafe/120484

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.7 เรื่อง การสังเคราะห์ด้วยแสง

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.7 เรื่อง การสังเคราะห์ด้วยแสง
ทำไมพืชส่วนใหญ่มีใบสีเขียว
พืชที่เราพบในบริเวณชุมชน หรือบริเวณโรงเรียน ส่วนใหญ่มีใบสีเขียว แต่ก็มีพืชบางชนิดที่มีใบสีอื่น ๆ เช่น สีม่วง สีแดง สีส้ม และสีเหลือง ด้วย
สีต่างๆ ที่พบในใบพืช เกิดจากการที่พืชผลิตหรือสร้างสารที่มีสีต่างๆ ขึ้น เรียกสารมีสีเหล่านี้ว่า “รงควัตถุ” (pigment) พืชส่วนใหญ่สร้างรงควัตถุสีเขียว และนักวิทยาศาสตร์พบว่า เป็นสารสีเขียวนี้มีประโยชน์และมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพืชอย่างมาก เราเรียกสารสีเขียวนี้ว่า “คลอโรฟิลล์”
สารคลอโรฟิลล์ เป็นสารสีเขียวที่อยู่ในใบพืช ทำหน้าที่ดูดซับพลังงานแสงจากแหล่งกำเนิดแสง เช่น ดวงอาทิตย์ เพื่อมาใช้เป็นแหล่งพลังงานในการเปลี่ยนน้ำเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้กลายเป็นอาหารประเภทน้ำตาล และก๊าซออกซิเจน หรือใช้เป็นพลังงานในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงนั่นเอง ด้วยความสามารถของพืชที่สร้างอาหารเองได้ เราจึงเรียกพืชว่า ผู้ผลิต
การสังเคราะห์แสง (Photosynthesis) เป็นกระบวนการสร้างอาหารของพืช โดยพืชอาศัยปัจจัยต่างๆ คือ น้ำ แสงแดด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คลอโรฟิลล์ และแร่ธาตุต่างๆ ที่ละลายในน้ำ สิ่งที่ได้จากการสังเคราะห์ด้วยแสง คือ แป้ง และน้ำตาล เพื่อใช้เป็นอาหารของพืชช่วยให้พืชเจริญเติบโต และคายน้ำและออกซิเจนออกมาสู่บรรยากาศ
ในกระบวนการสังเคราะห์แสงนั้น พืชต้องการ น้ำ เพราะน้ำจะเป็นตัวละลายแร่ธาตุอาหารในดินให้เข้าไปสู่กระบวนการสังเคราะห์แสง พืชใช้น้ำเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสังเคราะห์แสงเท่านั้น โดยจะเห็นว่าน้ำไม่ใช่อาหารของพืชโดยตรง
เมื่อ แสงแดด ส่องผ่านเข้ามาที่ใบพืช คลอโรฟิลล์ จะดูดแสงเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานในกระบวนการสังเคราะห์แสง
จากนั้นพืชจะทำการดูด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากนั้นจึงนำมาทำการสังเคราะห์แสง หลังจากสังเคราะห์แสงจะได้สารอาหาร เป็นแป้ง และน้ำตาล ซึ่งจะใช้เป็นอาหารของพืชอีกครั้ง
ความสำคัญของกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
การสังเคราะห์ด้วยแสง มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. เป็นกระบวนการสร้างอาหารเพื่อการดำรงชีวิตของพืช
2. เป็นกระบวนการซึ่งสร้างสารประกอบชนิดอื่น ซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการเจริญเติบโตของพืช
3. เป็นแหล่งอาหารและแหล่งพลังงานที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เนื่องจากพืชสีเขียวได้ดูดน้ำ รับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และดูดพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์ไปสร้างสารอาหารพวกน้ำตาล และสารอาหารนี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอาหารอื่นๆ ได้ ซึ่งสิ่งมีชีวิตได้นำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการต่างๆ ของชีวิต จึงถือว่าสารอาหารเหล่านี้เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
4. เป็นแหล่งผลิตแก๊สออกซิเจนที่สำคัญของระบบนิเวศ โดยแก๊สออกซิเจนเป็นผลที่เกิดจากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช ซึ่งแก๊สออกซิเจนเป็นแก๊สที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องนำไปใช้ในการสลายอาหาร เพื่อสร้างพลังงานหรือใช้ในกระบวนการหายใจนั่นเอง
5. ช่วยลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ

http://gotoknow.org/file/tedsaban4phaochum/s03.GIF
http://web.agri.cmu.ac.th/hort/course/359311/PPHY4_photosyn.htm


ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.9 เรื่อง ประโยชน์ของพืช
พืชให้ประโยชน์แก่มนุษย์มากมาย ในชีวิตประจำวัน เช่น ให้ร่มเงา ให้ความสวยงาม สบายตา ให้อากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่มนุษย์ ตลอดจนเป็นอาหาร ยารักษาโรค บำรุงร่างกายคนเรามากมาย ดังนี้
1.ใช้เป็นอาหาร มนุษย์นำส่วนต่าง ๆ ของพืชมารับประทาน เช่น
ใช้รากเป็นอาหาร เช่น มันแกว หัวไชเท้า มันเทศ มันฝรั่ง
ใช้ต้นเป็นอาหาร ได้แก่ อ้อย ผักกาด หน่อไม้ ขิง หอม กระเทียม
ใช้ใบเป็นอาหาร ได้แก่ ใบชะพลู คะน้า กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักบุ้ง
ใช้ดอกเป็นอาหาร ได้แก่ ดอกกุยช่าย ดอกแค ดอกโสน
ใช้ผลเป็นอาหาร ได้แก่ มะม่วง ชมพู่ ฝรั่ง ส้ม กล้วย เงาะ ลางสาด
2.ใช้เป็นร่มเงา
3.ใช้สร้างที่อยู่อาศัย
4.ใช้ในการประดับตกแต่ง
5.เพิ่มก๊าซออกซิเจนในอากาศ และลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ฯลฯ

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.5 เรื่อง ส่วนประกอบของดอก

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.5 เรื่อง ส่วนประกอบของดอก
โดยทั่วไปดอกจะเป็นส่วนที่สวยที่สุดของต้นไม้ เนื่องจากมีสีสันสวยงามน่าประทับใจ อย่างไรก็ตามยังมีดอกไม้บางชนิดที่ไม่ได้มีสีสวยงามอย่างที่ควรจะเป็น เช่น ดอกหญ้า นอกจากนี้ดอกไม้บางชนิดยังมีกลิ่นหอม เช่น กุหลาบ มะลิ บางชนิดมีกลิ่นเหม็น เช่น อุตพิษ พังพวย ราฟเฟิลเซีย บางชนิดออกเป็นดอกเดี่ยว เช่น ชบา บัว บางชนิดมีดอกเป็นกลุ่ม เช่น ดอกเข็ม ลีลาวดี บางชนิดสามารถเปลี่ยนสีดอกได้ตามช่วงเวลาอีกด้วย เช่น ชบาทะเล พุดน้ำบุษ
ดอก เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของพืช โดยดอกจะบานเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ถ้ายังไม่ได้รับการผสมพันธุ์ดอกจะเหี่ยวเฉาลงในที่สุด โดยอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้จะผลิตละอองเรณู และเพศเมียจะผลิตเซลล์ไข่ การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นเมื่อละอองเรณูจากเพศผู้ตกลงบนยอดเกสรตัวเมีย ละอองเกสรตัวผู้จะเคลื่อนตัวเข้าไปผสมไข่อ่อนในรังไข่เกสรตัวเมีย เรียกว่า เกิด “การปฏิสนธิ” เมื่อเมล็ดเจริญขึ้นรังไข่ในดอกจะกลายเป็นผล ซึ่งผลทำหน้าที่ห่อหุ้มและปกป้องเมล็ด จนกระทั่งเมล็ดพร้อมที่จะเจริญเป็นต้นใหม่
ดอกไม้ มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 อย่าง คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย
1.กลีบเลี้ยง คือ กลีบชั้นนอกสุดของดอกไม้ มักมีสีเขียวทำหน้าที่ป้องกันส่วนอื่นๆของดอกไม้ รวมทั้งแมลง ในช่วงที่กำลังเจริญเติบโต เมื่อดอกไม้มีขนาดใหญ่ขึ้นก็จะดันกลีบเลี้ยงให้แยกออกจากกัน
2.กลีบดอก โครงสร้างชั้นถัดจากกลีบเลี้ยง ทำหน้าที่ป้องกันเกสรในขณะที่ดอกยังอ่อนอยู่ และทำหน้าที่ล่อแมลงเพื่อช่วยในการถ่ายละอองเรณูในการผสมเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย โดยมากมักจะมีสีสันสวยงาม
3.เกสรตัวผู้ ส่วนที่ใช้สืบพันธุ์เพศผู้ของดอกไม้ ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ประกอบด้วย
- อับละอองเรณู คือ ส่วนปลายสุดของก้านเกสร มีลักษณะเป็นฝุ่นผงละเอียด
- ก้านชูอับละอองเรณู คือ เป็นส่วนที่ต่อจากยอดเกสรตัวผู้ลงมามีลักษณะเป็นท่อยาวเรียงลงมา และโดยมากละอองเรณูจะมีลักษณะเป็นผงละเอียด
4.เกสรตัวเมีย อวัยวะหนึ่งของดอกไม้ที่ใช้สืบพันธุ์ ทำหน้าที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์ เพศเมีย ประกอบด้วย
- ยอดเกสรตัวเมีย คือ ส่วนปลายสุดของก้านเกสรตัวเมีย มีลักษณะเป็นปุ่ม มีขน หรือยางเหนียวๆ สำหรับดับจับละอองเรณูที่ปลิวมาหรือติดขาแมลงพามา
- ก้านชูเกสรตัวเมีย คือ เป็นส่วนที่ต่อจากยอดเกสรตัวเมียลงมามีลักษณะเป็นท่อยาวเรียงลงมาถึงรังไข่
- รังไข่ คือ ส่วนที่อยู่ติดกับฐานดอก มีลักษณะพองโตออกเป็นกระเปาะ ใช้ทำหน้าที่ป้องกันไข่อ่อน
- ไข่อ่อน คือ ส่วนที่อยู่ในถุงเก็บเซลล์ไข่ (ออวุล) ซึ่งจะซ่อนอยู่ภายในรังไข่
ประเภทของดอกไม้
เราสามารถจัดจำแนกดอกไม้โดยใช้เกณฑ์หลายๆ แบบ อาทิ
1.จำแนกตามลักษณะของเพศ ได้ดังนี้
· 1.1 ดอกสมบูรณ์เพศ คือ ดอกที่มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน เช่น ดอกตำลึง พู่ระหง กุหลาบ มะเขือ พริก เป็นต้น
· 1.2 ดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือ ในดอกจะมีเพียงเกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ดอกที่มีแต่เกสรตัวผู้ เรียก “ดอกตัวผู้” ดอกที่มีแต่เกสรตัวเมีย เรียก “ดอก-ตัวเมีย” ดอกไม้ที่ไม่มีทั้งเกสรตัวผู้และตัวเมีย เรียก “ดอกเป็นกลางหรือดอกเป็นหมัน” และหากในพืชต้นหนึ่งๆ มีดอกสมบูรณ์เพศหรือมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียในต้นเดียวกัน แม้จะคนละดอกหรือต่างช่อดอก เรียกพืชต้นนั้นว่า พืชกะเทย เช่น ข้าวโพด
·
2.จำแนกตามส่วนประกอบของดอก ได้ดังนี้
2.1 ดอกครบส่วน คือ ดอกที่มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ครบ เช่น กุหลาบ เป็นต้น
2.2 ดอกไม่ครบส่วน คือ ดอกที่มีส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน คือ กลีบเลี้ยง กลีบดอก เกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย ไม่ครบ เช่น กล้วยไม้ เป็นต้น

3.จำแนกตามจำนวนดอกในแต่ละช่อ ได้ดังนี้
· 3.1 ดอกเดี่ยว เป็นดอกที่เกิดขึ้นบนก้านดอก เป็นดอกเดียวโดดๆ ในแต่ละข้อของกิ่งหรือลำต้น เช่น ชบา จำปี การะเวก เป็นต้น
3.2 ดอกช่อ เป็นดอกที่เกิดเป็นกลุ่มอยู่บนก้านดอกใหญ่เดียวกัน และประกอบด้วยก้านดอกย่อยๆ หลายดอก เช่น กล้วยไม้ มะลิ เข็ม เป็นต้น

วัฏจักรชีวิตพืชดอก
เมื่อนำเมล็ดพืชไปปลูกสักระยะหนึ่ง เมล็ดพืชจะค่อย ๆ งอกรากออกมาต่อจากนั้นลำต้นจะงอกออกมาจนเป็นต้นพืชเล็ก ๆ และเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นและสูงขึ้น เมื่อต้นพืชเจริญเติบโตเต็มที่ จะออกดอก และเมื่อดอกได้รับการผสมพันธุ์ก็จะเกิดเป็นผล ซึ่งภายในผลของพืชมีเมล็ดที่สามารถเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ต่อไป
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว เรียกว่า “วัฏจักรชีวิตของพืชดอก” ซึ่งจะเกิดหมุนเวียนกันไป

วัฏจักรชีวิตของพืชดอก
1) เมล็ดงอกราก
2) มีการงอกของลำต้น
3) มีการเจริญเติบโตของใบและส่วนต่างๆ จนกลายเป็นต้นที่เจริญเต็มที่
4) ออกดอกเพื่อเข้าสู่ช่วงการผสมพันธุ์
5) ดอกได้รับการผสมกลายเป็นผล ซึ่งภายในผลจะมีเมล็ดอยู่เพื่อการขยายพันธุ์ต่อไป

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.3 เรื่อง หน้าที่ของลำต้น

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.3 เรื่อง หน้าที่ของลำต้น
ลำต้นเป็นส่วนประกอบหนึ่งของพืชที่คอยรองรับกิ่งและใบพืช โดยส่วนใหญ่แล้ว ลำต้นจะเป็นส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินขึ้นไปหรืออยู่ในอากาศ ลำต้นจะเชื่อมต่อรากและใบ เราจะพบว่าส่วนใหญ่ลำต้นจะเจริญเติบโตในแนวดิ่ง พืชที่สูง ลำต้นหนา ใหญ่ และลำต้นแข็ง เราจะเรียกพืชกลุ่มนี้ว่า ไม้ยืนต้น(Tree) ส่วนพืชบางชนิดที่ต้นเตี้ยและเป็นพุ่ม มีขนาดลำต้นเล็กกว่าพืชยืนต้น เราเรียกพืชกลุ่มนี้ว่า ไม้พุ่ม(Shrub) ทั้งไม้ยืนต้นและไม้พุ่มมีลำต้นที่แข็งและตั้งตรงขึ้นไป แต่เราจะพบว่าพืชบางชนิดมีลำต้นที่ไม่แข็งนักจนมันไม่สามารถตั้งลำต้นให้ตรงได้ เราเรียกพืชกลุ่มนี้ว่า ไม้เลื้อย เรามักใช้พืชกลุ่มนี้ทำรั้ว เกาะประดับกำแพง ผนัง หรือปลูกคลุมดิน
ขนาดของลำต้นขึ้นอยู่กับจำนวนกิ่งที่อยู่ต่อขึ้นไปจากลำต้น บริเวณลำต้นจะมีเปลือกไม้ปกคลุมอยู่ที่ผิวด้านนอกของลำต้น เปลือกไม้มีลักษณะต่างๆ กันมากมาย ทั้งสี ความหนา และลักษณะพื้นผิวสัมผัส
เราจะสังเกตว่าบริเวณลำต้นมีจุดเล็กอยู่ด้านข้างด้วย เราเรียกว่า ตาพืช และตรงปลายบนสุดของลำต้นมีใบพืชขนาดเล็กละมีสีเขียวอ่อนอยู่ เราเรียกว่า ยอดพืช
ยอดพืช คือ ลำต้นอ่อนที่งอกจากเมล็ดหรือลำต้นหลัก
ตาพืช คือ จุดเจริญเล็กๆ บนลำต้น ซึ่งอาจมีการพัฒนาไปเป็นยอดพืชหรือดอกก็ได้

หน้าที่หลักและหน้าที่พิเศษของลำต้น
1. เป็นทางลำเลียงน้ำ และอาหารจากรากสู่ส่วนต่าง ๆ ของพืช
2. เป็นโครงสร้างหลักเพื่อให้ส่วนประกอบอื่นๆ สามารถอยู่รวมกันได้
3. ลำต้นทำหน้าที่ชูกิ่ง ก้าน ใบ ดอก เพื่อรับแสงแดด
4. เป็นที่เก็บสะสมอาหารในพืชบางชนิด เช่น ขึ้นฉ่าย ไผ่ และกวนอิม เป็นต้น
5. ช่วยในการสังเคราะห์แสง พืชกลุ่มนี้มักมีใบขนาดเล็กเกินกว่าจะรับแสงอาทิตย์ได้เพียงพอ เช่น กระบองเพชร
ลำต้นของพืช จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามตำแหน่งที่อยู่ ได้แก่
1. พืชที่มีลำต้นบนดิน
พืชที่มีลำต้นบนดิน ได้แก่ มะพร้าว มะเขือ ข้าว มะม่วง ขนุน กระเพรา

ลักษณะของลำต้นบนดิน
พืชส่วนใหญ่มีลำต้นอยู่บนดิน ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็นหลายลักษณะ เช่น
1. ลำต้นตั้งตรง เป็นลำต้นของพืชยืนต้นทั่วไป เช่น ยางพารา เงาะ มะพร้าว มะละกอ เป็นต้น
2. ลำต้นเลื้อย เป็นลำต้นที่เลื้อยไปตามพื้นดิน หรือพื้นน้ำ บริเวณข้อมักมีรากงอกออกมาเพื่อหาอาหารโดยการแทงลงดิน และช่วยยึดลำต้นเอาไว้ เช่น ผักบุ้ง ผักแว่น หญ้า เป็นต้น
3. ลำต้นไต่พันหลัก เป็นลำต้นอ่อนเลื้อยแล้วไต่ขึ้นที่สูง โดยไต่พันหลักเป็นเกลียว เช่น เถาวัลย์ ต่าง ๆ
4. ลำต้นเปลี่ยนเป็นมือเกาะ เป็นส่วนของลำต้นที่ดัดแปลงไปเป็นมือเกาะ โดยส่วนของมือเกาะจะบิดเป็นเกลียวคล้ายลวดสปริงยืดหยุ่นได้ เช่น บวบ แตงกวา ตำลึง เป็นต้น
5. ลำต้นเปลี่ยนเป็นหนาม เป็นส่วนของลำต้นที่เปลี่ยนไปเป็นหนาม หรือขอเกี่ยว ช่วยในการไต่ขึ้นที่สูง และป้องกันอันตราย เช่น เฟื่องฟ้า ไมยราบ เป็นต้น
2. พืชที่มีลำต้นใต้ดิน
พืชที่มีลำต้นใต้ดินมักมีลักษณะเป็นเหง้า เป็นหัว เราจะแยกรากกับลำต้นได้โดยดูข้อปล้อง หากที่หัวหรือเหง้ามีข้อปล้องหรือตา แสดงว่าเป็นลำต้นที่ใช้สะสมอาหาร พืชที่มีลำต้นใต้ดิน เช่น แห้ว ขิง ข่า เผือก มันฝรั่ง

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.2 เรื่อง รากพืช

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.2 เรื่อง รากพืช
ราก (root) เป็นส่วนประกอบของพืชที่เจริญเติบโตลงสู่ดินตามแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อช่วยยึดลำต้นให้ติดกับพื้นดิน รากพืชส่วนใหญ่ไม่มีคลอโรฟิลล์ ชนิดของรากเมื่อแยกตามกำเนิด จำแนกออกเป็น 3 ชนิด
ชนิดของราก
1. Primary root หรือ รากแก้ว (tap root) มีลักษณะ ตอนโคนจะโตแล้วค่อยเรียวเล็กลงไปจนถึงปลาย จะยาวและใหญ่กว่ารากอื่นๆ ที่แยกออกไปทำหน้าที่เป็นหลักรับส่วนอื่นๆ ให้ทรงตัวอยู่ได้ รากชนิดนี้พบในพืชใบเลี้ยงคู่ที่งอกออกจากเมล็ดโดยปกติ ส่วนพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่งอกออกจากเมล็ดใหม่ๆ ก็มีรากระบบนี้เหมือนกันแต่มีอายุได้ไม่นานก็เน่าเปื่อยไปแล้วเกิดรากชนิดใหม่ขึ้นมาแทน(รากฝอย)
2. Secondary root หรือรากแขนง(branch root) เป็นรากที่เจริญเติบโตออกมาจากรากแก้ว มักงอกเอียงลงไปในดินจนเกือบขนานหรือขนานไปกับพื้นดิน รากชนิดนี้อาจแตกแขนงออกเป็นทอดๆ ได้อีกเรื่อยๆ
3. Adventitious root หรือ รากวิสามัญ เป็นรากที่ไม่ได้กำเนิดมาจากรากแก้วหรือ รากแขนง รากพืชชนิดนี้อาจแตกออกจากโคนต้นของพืช ตามข้อของลำต้นหรือกิ่ง ตามใบหรือจากกิ่งตอนของไม้ผลทุกชนิด แยกเป็นชนิดย่อยได้ตามรูปร่างและหน้าที่ เช่น รากค้ำจุน รากเกาะ เป็นต้น
หน้าที่ของราก
ราก มีหน้าที่หลักที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ
1. ดูดน้ำ และแร่ธาตุ จากพื้นดินส่งขึ้นไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ซึ่งต้องนำไปผ่านกระบวนการปรุง หรือการสังเคราะห์ด้วยแสงก่อน ปัจจุบันได้มีการพัฒนาปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน แต่จะเอารากไปแช่ในน้ำซึ่งมีปุ๋ย หรือธาตุอาหารผสมอยู่ ดังนั้นการดูดน้ำหรือแร่ธาตุที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะไม่ใช่จากพื้นดินเสมอไป
2. ยึดลำต้นให้ติดกับพื้นดิน พืชเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่กับที่มีลำต้นชี้ขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ส่งกิ่งก้านที่มีใบติดอยู่ขึ้นรับแสงอาทิตย์เพื่อปรุงอาหาร ถ้าพืชไม่มีรากลำต้นจะตั้งตรงหรือยึดเกาะหน้าดินอยู่ไม่ได้



หน้าที่พิเศษของราก
พืชบางชนิด มีรากซึ่งทำหน้าที่พิเศษ ซึ่งรากชนิดนี้เป็นรากที่เจริญมาจากรากวิสามัญหรือ Adventitious root แบ่งประเภทได้ตามรูปร่างและหน้าที่พิเศษ ดังนี้
- รากฝอย (fibrous root) เป็นรากเส้นเล็กๆมากมาย ขนาดเท่ากันตลอดเส้นราก ไม่เรียวลงที่ปลายอย่างรากแก้ว งอกออกจากรอบโคนต้นแทนรากแก้วที่ฝ่อเสียไปหรือที่หยุด การเจริญเติบโต มักพบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวเป็นส่วนใหญ่
- รากค้ำจุน (Prop root) เป็นรากที่แตกออกมาจากข้อของลำต้นที่อยู่ใต้ดิน และเหนือดินขึ้นมาเล็กน้อย และพุ่งแทงลงไปในดิน เพื่อช่วยในการพยุงลำต้นไม่ให้ล้มง่าย เช่น รากค้ำจุนของต้นข้าวโพด ต้นลำเจียก ต้นโกงกาง เป็นต้น
- รากเกาะ (Climbing root) เป็นรากที่แตกออกมาจากข้อของลำต้นแล้วมาเกาะตามหลักหรือเสา เพื่อพยุงลำต้นให้ติดแน่นและชูลำต้นขึ้นที่สูง เช่น พลู พลูด่าง กล้วยไม้ เป็นต้น
- รากสังเคราะห์แสง (photosynthtic root) เป็นรากที่แตกออกมาจากข้อของลำต้น แล้วห้อยลงมาในอากาศ มีสีเขียวของคลอโรฟิลล์ เป็นรากที่ทำหน้าที่สังเคราะห์แสง เช่น รากกล้วยไม้ที่มีสีเขียว รากของไทร โกงกาง เป็นต้น
- รากหายใจ (Respiratory root)รากพวกนี้เป็นแขนงงอกออกจากรากใหญ่ที่แทงลงไปในดินอีกทีหนึ่ง แต่จะชูปลายรากขึ้นมาเหนือดินหรือผิวน้ำ บางทีก็ลอยตามผิวน้ำ เช่น รากของแพงพวย กล้วยไม้ ไทร เป็นต้น


- รากกาฝาก (Parasitic root) เป็นรากของพืชบางชนิดที่เป็นปรสิต เช่น รากของต้นกาฝาก ต้นฝอยทอง เป็นต้น
- รากสะสมอาหาร (storage root) เป็นรากที่ทำหน้าที่ในการสะสมอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล หรือ โปรตีนเอาไว้ ทำให้มีลักษณะอวบอ้วนเรามักเรียกว่า หัว เช่น หัวแครอท หัวผักกาด หัวมันเทศ หัวมันแกว มันสำปะหลัง กระชาย เป็นต้น
ภาพตัดขวางแสดงเซลล์รากพืช
อ้างอิงจาก
http://www.promma.ac.th/biology/web5/p3.htm

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.1 เรื่อง ส่วนประกอบต่างๆ ของพืช

ใบความรู้ กิจกรรมที่ 4.1 เรื่อง ส่วนประกอบต่างๆ ของพืช
ส่วนประกอบต่างๆ ของพืช
พืชประกอบด้วยอวัยวะที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ได้แก่ ราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และเมล็ด ซึ่งอวัยวะแต่ละส่วนของพืชนั้นมีหน้าที่และส่วนประกอบแตกต่างกัน แต่ทำงานเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันหากขาดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไป อาจทำให้พืชนั้นผิดปกติหรือตายได้ และยังมีปัจจัยบางประการที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช
แต่ก็ยังมีพืชบางชนิดมีส่วนประกอบเพียง ราก ลำต้น ใบ ดอก หรือบางชนิดมีเพียง ราก ลำต้นและใบ แต่สิ่งที่สำคัญของส่วนประกอบต่างๆ ของพืชที่เหมือนกัน ก็คือ ให้เกิดความอยู่รอด และการเจริญเติบโต
ส่วนประกอบต่างๆ ของพืช
ราก คือ อวัยวะที่เป็นส่วนประกอบของพืชที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ ไม่มีข้อ ปล้อง ตาและใบ รากเจริญเติบโตตามแรงดึงดูดของโลกลงสู่ดิน มีขนาดและความยาวแตกต่างกัน รากของพืชมีหลายชนิด
ลำต้น คือ อวัยวะของพืชที่โดยทั่วไปเจริญอยู่เหนือพื้นดินต่อจากราก มีขนาด รูปร่าง และลักษณะแตกต่างกันไป ลำต้นมีทั้งลำต้นอยู่เหนือดิน เช่น มะละกอ มะม่วง มะนาว ชมพู่ เป็นต้น และลำต้นอยู่ใต้ดิน เช่น ขิง ข่า ขมิ้น กล้วย หญ้าแพรก พุทธรักษา เป็นต้น
ใบ คือ อวัยวะของพืชที่เจริญออกมาจากข้อของลำต้นและกิ่ง ใบส่วนใหญ่จะมีสารสีเขียวเรียกว่า คลอโรฟิลล์ ใบมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดของพืช ใบประกอบด้วย ก้านใบ แผ่นใบ เส้นกลาง และเส้นใบ
ดอก คือ อวัยวะสืบพันธุ์ของพืช ทำหน้าที่สืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ที่เกิดมาจากตาชนิดตาดอกที่อยู่ตรงบริเวณปลายยอด ปลายกิ่ง บริเวณลำต้นตามแต่ชนิดของพืช